คลัง สั่งคุมเข้ม “บิตคอยน์” มองความเสี่ยงอาจกระทบตลาดทุน !!

ในงาน"สัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี 2564" โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ : บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 64
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเด็นที่ฝากถึงก.ล.ต. มี 5 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย ประเด็นแรกคือเรื่องของ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างเครื่องมือในการลงทุนใหม่ให้ตลาดทุน เช่น เรื่องบิตคอยน์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาในตลาดทุน ดังนั้นจะต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยง การให้ความรู้กับนักลงทุน เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป เพราะอาจกระทบกับตลาดทุนได้
2.เปิดโอกาสให้บริษัทใหม่ๆ สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ 3. การยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน โดยเน้นการวางรากฐานระดับกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้ตลาดมีความมั่นคง 4.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย 5. จะต้องเข้าไปดูแล หรือการอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ส่วนประเด็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าไม่น่ารุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจาก ได้เห็นถึงเห็นสัญญาณของวัคซีนที่ผลิตได้แล้ว และยืนยันว่าทางรัฐบาลจะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง และทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนแน่นอน
“สถานการณ์ปีนี้สิ่งที่มีผลต่อต่อเศรษฐกิจ ก็แตกต่างกันไป โดยปัจจัยที่เข้ามาเสริม คือ วัคซีนที่มีหลายยี่ห้อ หลายประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง ต้องฉีดให้หมด หากทำได้เร็วจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ และถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีความหวังว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นั้นจะมีน้อยลง เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา”นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตามวัคซีนถือเป็นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ แต่อีกด้านวัคซีนเศรษฐกิจมี 3 อย่างที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาเสถียรภาพ อย่างแรก วัคซีนเศรษฐกิจในระดับประเทศ คือ GDP ต้องเติบโตอย่างมั่นคง มีคุณภาพ รวมทั้งความมั่นคงของเศรษฐกิจทั้งทุนสำรองของประเทศ และประเด็นฐานะการคลังเป็นอย่างไร และหนี้ของประเทศเป็นอย่างไร
ต่อมาวัคซีนอย่างที่สอง คือ ภาคการผลิต ภาคการบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกันทั้งการบริหารความเสี่ยง หากไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอันตราย ส่วนวัคซีนที่ 3 คือระดับประชาชน คือเรื่องของการมีเงินออม ซึ่งอยากจะเสนอว่ารายได้ ลบเงินออม จะทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลง ดังนั้นบทบาทในตลาดทุนต้องประสานส่วนนี้ให้ได้
สำหรับประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูในช่วงที่มีวิกฤติโควิด-19 นั้น นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ในการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคการผลิต ต้องสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันตลาดทุนก็ต้องประสานกันด้วย เพราะความเดือดร้อนของภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ เอสเอ็มอี ก็ได้รับผลกระทบ
ทางด้านอนาคตของไทยจะไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการลงทุนหลังจากนี้ จะไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จาก มาตรการต่างๆของภาครัฐ เน้นไปสู่สังคมไร้เงินสด ทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน ชิมชอปใช้ คนละครึ่ง เราชนะ ทุกอย่างใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก
นอกจากนี้ การลงทุนรัฐบาลจะเน้นการลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง green economy โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด รถอีวีในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหามาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนด้านภาษีนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษีรอบ 2 รวมถึงการหามาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นต้น
“การดำเนินนโยบายรัฐบาลขณะนี้ และอนาคตประเทศไทยนั้นจะไปทางไหน โดยมี 3 ประเด็นที่ต้องโฟกัส อย่างแรก คือ เรื่องดิจิทัล โดยขณะนี้ ภาครัฐถือเป็นผู้นำในการใช้ดิจิทัลอิโคโนมี โดยเฉพาะเรื่องเยียวยา การกระตุ้น ทั้งเราไม่ทิ้งกัน ชิมช็อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ และจะมีเรารักกัน ทั้งหมดนี้ทุกโครงการ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ขณะที่ประเด็นที่สอง กรีนอิโคโนมี หรือ กรีนบิซซิเนท ที่มาเร็วเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลชัดเจว่าจะมุ่งไปสู่รถอีวีในอนาคต และประเด็นที่สาม ที่เกี่ยวกับโควิด-19 เรื่องสุขภาพ โดยในอนาคตผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น”นายอาคม กล่าว