เปลี่ยนค่าใช้จ่าย “Valentine” ไปลงทุน...สร้างสมดุลให้ ‘ความรัก& การเงิน’ !!!

เมื่อเข้าสู่ “เทศกาลแห่งความรัก” หรือ “วันวาเลนไทน์” เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่มีความรักคงจะต้องเตรียมสร้างความประทับใจต่าง ๆ ให้กับแฟนหรือคนที่ตนเองรัก อย่างเช่น ของขวัญ ร้านอาหาร หรือการพาไปท่องเที่ยว
“แต่บางคนก็อาจไม่ชอบที่จะให้สิ่งต่าง ๆ ในช่วงนี้เพราะคิดว่าไม่อยากทำตามกระแส หรืออาจคิดว่าราคาสินค้ามีการปรับเพิ่มมากเกินไปในช่วงเทศกาล อย่างเช่น ราคาดอกกุหลาบฮอลแลนด์ขนาดใหญ่ ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 มีราคามัดละ 4,000 ในขณะที่วันที่ 10 ก.พ. 2564 ราคากระโดดมาถึงมัดละ 5,500 บาท เพิ่มขึ้นถึง 37.5% (ที่มา: www.simummuangmarket.com)”
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เตรียมตัวซื้อของขวัญหรือเตรียมสิ่งต่างๆ ให้กับคนรัก แล้วยังไม่รู้ว่าควรจะต้องเตรียมงบประมาณเท่าไหร่ดี ทาง “บริษัทมาสเตอร์การ์ด” ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลแห่งความรัก โดยใช้ชื่อว่า “Mastercard Love Index” หรือ “ดัชนีความรักของมาสเตอร์การ์ด” พบว่าในปี2559 คนไทยมีการเตรียมวางแผนการใช้จ่ายถึง 4,155 บาท (การสำรวจของมาสเตอร์การ์ดจะสำรวจการเตรียมค่าใช้จ่ายในวันที่ 11 – 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี) และประเทศในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มการใช้จ่ายเงินสำหรับช่วงวาเลนไทน์สูงมากขึ้นทุกปี
“อย่างในปี 2561 คนไทยมีแนวโน้มการเตรียมเงินสำหรับการใช้จ่ายในช่วง ‘วันวาเลนไทน์’ เพิ่มขึ้นถึง 25% แต่ต้องบอกว่าตัวเลขที่ทำสำรวจเป็นค่าเฉลี่ยของคนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทมาสเตอร์การ์ดเท่านั้น ในชีวิตจริงเราอาจจะเตรียมงบ ‘น้อย’ หรือ ‘มากกว่า’ นี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเราเองครับ”
ทีนี้เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายในช่วง “วันวาเลนไทน์” แล้ว ลองมาคิดเล่น ๆ กันดูว่า ถ้าเอามาประยุกต์ใช้กับการจัดการเงินของเราและการลงทุนจะเป็นยังไง
สมมติ เราเป็นอยากจะเป็นผู้ชายในอุดมคติและเริ่มจีบแฟนตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเรามีการเตรียมตัวพาแฟนไปเที่ยว ซื้อของขวัญ และจัดดอกไม้สำหรับเซอร์ไพรส์ใน ‘วันวาเลนไทน์’ ให้แฟนทุก ๆ ปี โดยปีแรกเราเตรียมเงินไว้ 4,000 บาทต่อปี และจัดเตรียมค่าใช้จ่ายในช่วงวาเลนไทน์เพิ่มขึ้นปีละ 25% ทุกปี แปลว่าในปีที่ 1 เราจะใช้เงินเท่ากับ 4,000 บาท ปีที่ 2 เท่ากับ 5,000 บาท ปีที่ 3 เท่ากับ 6,250 บาท ....... จนอายุ 35 ปี เราก็ได้แต่งงานกับแฟนอย่างที่ตั้งใจ และแฟนเราขอให้เราไม่ต้องใช้จ่ายเงินใน ‘วันวาเลนไทน์’ อีก (แม้ในชีวิตจริงคุณผู้ชายอาจจะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ตาม)
“เรามาลองคำนวณดูกันครับ ตอนเราอายุ 35 ปี (ได้ฉลองวาเลนไทน์ 16 ครั้ง) ในปีสุดท้ายเราจะต้องเตรียมเงินสำหรับวันวาเลนไทน์มากถึง 113,687 บาท!!! (จากการเตรียมเงินเพิ่มขึ้น 25% ทุกปี) โดยตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มจีบกันเราจะใช้จ่ายเงินใน ‘วันวาเลนไทน์’ รวมเป็นเงินถึง 552,434 บาทเลยทีเดียว ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ”
ลองมาคิดต่อกันอีกนิดว่า ถ้าเราไม่ได้เอาเงินไปใช้ในช่วง ‘วันวาเลนไทน์’ และนำเงินทั้งหมดที่เตรียมไว้ทยอยลงทุนในกองทุนรวมทุกปีแทน สมมติถ้ากองทุนรวมสามารถสร้างผลตอบแทนที่ 7% ต่อปี ถ้าคำนวณออกมาแล้ว ในตอนที่เราอายุ 35 ปี เราจะมีมูลค่าเงินลงทุนถึง 730,386 บาท จะเห็นได้ว่าเราสามารถนำเงินดังกล่าวไปออมหรือลงทุนเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น เก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน การนำเงินไปดาวน์บ้าน ซื้อรถยนต์ หรือนำไปใช้เพื่อจัดงานแต่งงานในฝันของแต่ละคนได้เลย
อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ได้หมายความจะให้ทุกคน ‘ตัดงบ’ หรือ ‘เลิกใช้จ่าย’ ในช่วง “วันวาเลนไทน์” หมดนะครับ เพราะการทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนที่เรารักก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ “ชีวิตคู่” ซึ่งแต่ละคนหรือแต่ละครอบครัวคงมีความคาดหวังสำหรับเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน สุดท้ายเราก็ต้องพยายามหาสมดุลทั้งเรื่อง ‘ความรัก’ และเรื่อง ‘การเงิน’ กันต่อไปครับ