เติมพอร์ตเกษียณด้วยธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก’ กับ...“กอง SCBRMGIF” !!!

“กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)” มักเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำแต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้ต่างไปจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT)
แต่ภายใต้การสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น ได้สร้างบาดแผลแก่ผู้ลงทุนในกองรีท เพราะไม่เพียงแต่หน่วยลงทุนที่ลดลง ยังส่งผลให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมออย่างการปันผลลดน้อยลงไปด้วย
จึงทำให้ผลตอบแทนใน “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ได้แสดงความโดดเด่นขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างไรก็ตามการจะมองหาโอกาสการลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวก็อาจมีให้เลือกไม่มากนักในไทย
ในวันนี้ทาง ‘Wealthy Thai’ มีอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกอย่าง “กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลอินฟราสตรัคเจอร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMGIF)” พร้อมทั้งการได้รับจัดอันดับจาก ‘มอร์นิ่งสตาร์ 5 ดาว’ มาแชร์ให้นักลงทุนที่สนใจกันครั้งนี้
“กอง SCBRMGIF” โชว์ผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งกองทุน 5 ปีกว่า เฉลี่ย 3.11% ต่อปี
เมื่อก้าวไปยังตลาดโลกแล้ว ทางเลือกในการลงทุนในธุรกิจ “โครงสร้างพื้นฐาน” เองนั้น มีอยู่มากมายหลายหลากมาก ไม่จำกัดเฉพาะแค่รูปแบบของกองทุนเท่านั้น หากแต่ยังมี ‘หุ้น’ ที่ทำธุรกิจเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมากในโลก ทำให้โอกาสในการเข้าไปลงทุนก็มีความหลากหลายมากตามไปด้วย
“เมื่อมีทั้งหุ้นและกองทุน (Infra Fund/REIT) ที่ลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก บุคลิกของพอร์ตการลงทุนก็จะไม่ถูกจำกัดเหมือนลงทุนผ่านกองทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะมีส่วนที่เป็นจุดดีของหุ้นเข้ามาด้วย นั่นคือโอกาสในการเติบโตของราคา (Capital Gain) ในระยะยาวนั่นเอง ในธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลกรองรับอยู่”
สำหรับ “กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลอินฟราสตรัคเจอร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMGIF)” นั้น เป็นของ ‘บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด’ เป็นกองทุนรวมประเภทฟีดเดอร์ (Feeder Fund) ที่ได้จัดตั้งขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 ก.พ. 2564) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 253,571,393 บาท และมีมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 11.93 บาทต่อหน่วย
“สำหรับ ‘กอง SCBRMGIF’ หลายคนคงเดาถึงตัวนโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่ยาก แต่ว่าจะเป็นการเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ ‘DWS Invest Global Infrastructure’ (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) IDH (P) ในสกุลเงินยูโร (EUR) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน”
ซึ่งกองทุนหลักนี้บริหารโดย ‘DWS Investment GmbH’ และอยู่ภายใต้ UCITS แต่สิ่งที่น่าสนใจและทำให้กองทุนดังกล่าวมีความแตกต่างไปจากกองทุนในประเภทนั้น คือ กองทุนหลักมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เงินลงทุนสกุลเงินยูโรเติบโตในระยะยาวโดยได้ผลตอบแทนจากราคาหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain) ผ่านการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก (Global Infrastructure sector) โดยจะลงทุนอย่างน้อย 70% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนหลังจากหักสินทรัพย์เพื่อสภาพคล่องแล้ว ในตราสารทุน หลักทรัพย์ตราสารทุนอื่น ๆ และตราสารทุนประเภท uncertificated equity instruments ของผู้ออกที่อยู่ในภาคธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก
“โดยกองทุนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ (Net exposure) ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศดังกล่าวโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีการลงทุนที่ส่งผลให้มี net exposure ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน”
อย่างไรก็ดีแม้ว่ากองทุนหลักจะไม่ได้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ ‘กอง SCBRMGIF’ อาจมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ
ณ ธ.ค. 63 ‘กองทุน SCBRMGIF’ มีการลงทุนในกองทุนหลัก 94.85% ในขณะที่กองทุนหลักเองนั้นมีการลงทุนในหุ้น 81.9%, REIT 15.7% และเงินสด 2.4% โดยบุคลิกของกองทุนตาม ‘Mornigstar Style-Box’ นั้นจัดอยู่ในประเภทเน้นหุ้นใหญ่ที่เป็นหุ้นเติบโตสูงเป็นสำคัญ
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่กองทุนหลักลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- Oil & Gas Storage & Transport 20.3%
-Specialized Reits 15.7%
-Electric Utilities 13.2%
-Multi Utilities 12.7%
-Gas Utilities 9.1%
ส่วนประเทศที่กองทุนหลักลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
-สหรัฐฯ 49.0%
-สเปน 9.7%
-แคนาดา 9.3%
-Great Britain 5.8%
-ออสเตรเลีย 5.1%
“ในแง่ผลงานดำเนินงานของ ‘กองทุน SCBRMGIF’ ถือได้ไม่เลวนักโดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ม.ค. 64) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.11% ต่อปี ส่วนความผันผวนของกองทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 14.49% ต่อปี แต่อย่างไรก็ดีในช่วง 5 ปี กองทุนเคยมีผลขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ -32.36%”
โดยผู้ที่สนใจ ‘กองทุน SCBRMGIF’ การซื้อของหน่วยลงทุนนั้น มีมูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไปอยู่ที่ 1,000 บาทส่วนมูลค่าขั้นต่ำการขายคืนนั้นอยู่ที่ 1,000 บาทเช่นกัน โดยระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน ภายใน 4 วันทำการนับจากวันทำรายการขายคืน (T+3)
สำหรับช่องทางการซื้อขายกองทุนสามารถทำได้ผ่านช่องทาง DIGITAL (SCB EASY NET และ SCB EASY APP) ธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนอื่น
“นักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสลงทุนที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอในธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก’ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณในระยะยาว และมีความแตกต่างไปจากกองทุนรวมประเภทเดียวกัน ‘กองทุน SCBRMGIF’ ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยความแตกต่างของนโยบายกองทุนหลักนั้น ก็อาจเป็นตัวช่วยที่สำหรับการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระดับที่สูงขึ้น”

