ปั้น “5 ล้านบาท” ก่อนเกษียณ 10 ปี...ยังไม่สาย-อยู่ในวิสัยที่ทำได้ !!!

จริงๆ แล้วเรื่อง “การวางแผนเกษียณ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ถ้าเอาเรื่องนี้มาคุยกับคนอายุน้อยในช่วงเริ่มต้นวัยทำงานกลับมองว่า...อีกนานกว่าจะถึง “จะรีบไปไหนๆ” ก็ได้
ขอใช้ชีวิตให้คุ้มค่าก่อน ถึงเวลาเดี๋ยวค่อยเก็บก็ไม่สาย เวลายังมีเหลืออีกมากมาย…
วันนี้จะพาคุณวาร์ปข้ามมิติกาลเวลามา ณ จุดของเวลา “อีก 10 ปี ก่อนคุณจะเกษียณ” กันดู วันนี้คุณพร้อมที่จะเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า (อายุ 60 ปี) แล้วหรือยัง?
วันนี้ คุณมีเงินเก็บในส่วน “เป้าหมายเกษียณ” มากน้อยขนาดไหน?
หากอ้างอิงตัวเลขที่ทาง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” เคยแนะนำไว้เบื้องต้นที่ 5 ล้านบาท นั้น ตอนนี้ความพร้อมคุณสำหรับชีวิตเกษียณในอีก 10 ปี ข้างหน้า เป็นยังไงกันบ้าง?
วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย
อีก 10 ปีก่อนเกษียณ...ยังไม่สายที่จะเก็บเงินบรรลุ “เป้าหมายเกษียณ” 5 ล้านบาท
ใครที่พอดียืนอยู่ ณ จุดของเวลา “อีก 10 ปีก่อนจะเกษียณ” น่าจะนึกภาพตามได้ง่ายหน่อย แต่ใครที่ยังไม่ถึงแต่ใกล้ถึงแล้วก็พอจะจินตนาการตามได้ไม่ยากนัก
ก่อนอื่นเลยแนะนำให้ตรวจสอบว่า ปัจจุบัน “เงินเก็บเพื่อเป้าหมายเกษียณ” ของคุณในตอนนี้ (ก่อนเกษียณ 10 ปี) มีอยู่เท่าไรแล้ว สำหรับใครที่ทะลุเป้า 5 ล้านบาทไปแล้ว หรือมีเงินใช้เฉลี่ยเดือนละ 20,833 บาท ไปอีก 20 ปี หลังเกษียณ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย เพราะบรรลุเป้าหมายได้ก่อนกำหนดถึง 10 ปี
“โอกาสจะขยับ ‘คุณภาพชีวิตหลังเกษียณ’ ให้ดีขึ้นกว่านี้ ด้วยการสะสมความมั่งคั่งเพิ่มเติม โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรที่เสี่ยงมากจนเกินไปก็จะมีมากขึ้นด้วย”
แต่ใครที่มาถึงจุดนี้ แล้วพบว่าเงินเก็บเพื่อเป้าหมายเกษียณ “ยังไม่มี” ก็อย่าเพิ่งตกใจไป ยังมีระยะเวลาเหลืออีก 10 ปี ให้คุณเดินหน้ามุ่งมั่นสร้างเงิน 5 ล้านบาทได้ทันอยู่ เพียงแต่อาจจะเหนื่อยมากหน่อย ทั้ง ‘อัตราการเก็บ’ ต่อเดือน และต้องมองหาทางเลือกที่ตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งให้เติบโตได้ในระยะ 10 ปีนี้ด้วย ซึ่งในภาพรวมก็จะเป็นกลุ่ม
-กองทุนผสม ที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี
-กองทุนหุ้น ที่คาดหวังผลตอบแทนได้ 7 – 10% ต่อปี ขึ้นกับหุ้นอะไรและสไตล์ไหนด้วย
“กรณีไม่มีเงินเก็บอยู่เลย บนทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนดีสุดเฉลี่ย 10% ต่อปี คุณต้องเก็บเงินเดือนละ 24,409 บาท แต่ถ้าอยากเสี่ยงน้อยลงเหลือแค่ 5% ต่อปี ก็ต้องเก็บเพิ่มเป็นเดือนละ 32,199 บาท ตัวเลขของคนที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลยตอนนี้ ค่อนข้างหนักพอสมควรสำหรับการเริ่มต้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย”
ส่วนใครที่มีเงินเก็บแล้วบางส่วน เช่น 1 ล้านบาท หรือ 2 ล้านบาท และยังขาดอยู่ 4 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท ตามลำดับนั้น ตัวเลขการเก็บก็ยังเป็นระดับ “หลักหมื่น” ต่อเดือนเช่นเดียวกัน มากน้อยขึ้นกับทางเลือกที่คุณเลือกลงทุนด้วยเช่นกัน
ส่วนคนที่มีเงินเก็บ 3 – 4 ล้านบาท โอกาสบรรลุเป้าหมายค่อนข้างอยู่ในวิสัย อัตราการเก็บก็ไม่หนักมาก โดยคนที่ยังขาดเงินอีก 1 ล้านบาท แค่ลงทุนเดือนละ 6,440 บาท ที่ผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะเติมเต็มเป้าหมายเงิน 5 ล้านบาท ตอนเกษียณได้แล้ว
“แต่ถ้าคุณเริ่มช้ากว่านี้ โอกาสจะบรรลุเป้าหมายเงินเก็บหลังเกษียณ 5 ล้านบาท ก็จะยิ่งยากขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายได้ เช่น มานึกได้ตอนอายุ 55 ปี เป็นต้น”
อย่าลืมสำรวจ “แหล่งเงินหลังเกษียณ” ของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง?
อย่าลืมสำรวจดู “แหล่งเงินหลังเกษียณ” ที่มีอยู่ในมือคุณด้วยเช่นกัน ได้แก่
-
‘เงินบำนาญ’ หรือ ‘บำเหน็จจากเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)’ กรณีรับราชการ ‘เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ กรณีพนักงานบริษัทซึ่งโดยปกติจะคำนวณตามเงินเดือนเฉลี่ยปีสุดท้ายและจำนวนปีที่ทำงานรวมถึง ‘เงินสงเคราะห์ครู’ และเงินจาก‘กองทุนการออมแห่งชาติ’
-
‘เงินบำนาญ’ หรือ ‘บำเหน็จจากประกันสังคม’ หากมีการจ่ายเบี้ยประกันสังคมระหว่างทำงาน (ที่สำคัญเกษียณอายุ 55 ปี อย่าลืมไปแจ้งใช้สิทธิของตัวเองด้วย โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบยอดเงินในส่วนนี้ได้ที่เวบไซด์ของประกันสังคม www.sso.go.th)
-
‘เงินผลประโยชน์จากประกันบำนาญ’ หรือ ‘ประกันชีวิต’ ที่จ่ายคืนเมื่อครบกำหนดเวลา
-
‘เงินจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน’ และเงินจาก ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’
-
‘ค่าขายคืนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)’ ซึ่งสามารถขายคืนได้เมื่อครบอายุ 55 ปีเป็นต้นไป
-
รายได้อื่นๆเช่นค่าเช่าดอกเบี้ยเงินปันผลหรือ รายได้จากเงินลงทุนประเภทอื่นๆ
“ประเมินดูว่า มีรายได้จากแหล่งไหนบ้างอยู่ในมือคุณในตอนเกษียณ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้มากน้อยแค่ไหน เป็นรายรับครั้งเดียว หรือทยอยรับ เป็นต้น”
“เป้าหมายเกษียณ” อาจดูไกล แต่ก็ต้องหมั่นสำรวจดูว่าคุณยังเดินอยู่บนเส้นทางที่วางเอาไว้หรือไม่อยู่เสมอ เพราะหากคุณเริ่มต้นได้เร็ว ‘เงินลงทุนต่อเดือน’ ก็จะน้อยลงมาก แต่ถ้าคุณละเลยไปบ้าง ขอให้ใช้หลัก “อีก 10 ปีก่อนเกษียณ” ไว้เช็กความพร้อมของตัวเองดูอีกครั้ง...ก็ยังไม่สาย สำหรับการเริ่มต้นแต่ประการใด
