เป็นข่าวเป็นคราวกันไปในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา กับแนวคิดคุมกำเนิด ‘การปล่อยกู้ 0%’ ที่สรุปสุดท้ายก็ไม่ได้มีการยกเลิกไปแต่ประการใด เพียงแต่หวังให้ ‘สถาบันการเงิน’ มีการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบเท่านั้นเอง
ประเด็นก็มาจากสถานการณ์ของ‘หนี้ครัวเรือน’ ของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงและทรงตัวในระดับที่สูงมีมูลค่ารวมกันกว่า 13.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.7% ของ GDP เลยทีเดียว
สุดท้ายต้องย้อนกลับมาถามตัวคุณเองแล้วว่า...คุณมี‘วินัยทางการเงิน’ มากแค่ไหน?
เพราะหาก ‘ไร้วินัย’ แล้ว โปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% ก็จะเป็น ‘กับดักหนี้’ ดีๆ นี่เอง ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย
“โปรโมชั่น 0%”...ดึงผู้บริโภคตัดสินใจใช้จ่ายง่ายขึ้น
หนึ่งในปัญหาที่ทางแบงก์ชาติค่อนข้างเป็นกังวลก็คือ‘หนี้ภาคครัวเรือน’ ที่ไต่ระดับเพดานบินมาค่อนข้างสุงจนจะทะลุ 80% ของ GDP กันแล้ว จึงเห็นมาตรการคุมการก่อหนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ กระจายไปใน ‘จุดเสี่ยง’ ที่คิดว่าเป็นอันตราย และล่าสุดก็มาถึงคิวของ ‘โปรโมชั่นผ่อน 0%’ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่ได้ยกเลิกแต่ประการใด เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ ‘สถาบันการเงิน’ ต่างๆ นั้นปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบเท่านั้นเอง
ในสิ่งที่‘จำเป็น’ โปรโมชั่นผ่อน 0% ก็มีประโยชน์ เช่น ผ่อนประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือค่ารักษาพยาบาลก็ว่ากันไป แต่พวกที่ ‘ไม่จำเป็น’ จ่ายเพื่อตอบสนองความอยากส่วนตัวไปในการซื้อสินค้าต่างๆ ก็ฝากสถาบันการเงินช่วยดูแลกันด้วย เพราะเดี๋ยวจะไปส่งเสริมให้ ‘ภาระหนี้’ มันยิ่งพุ่งพรวดพราดขึ้นมา เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภาพรวมไปได้เช่นกัน
โปรโมชั่น ‘0%’ นี้ไม่ใช่ของใหม่มีมานานแล้วในหลากหลายรูปแบบเช่น
-‘บัตรเครดิต ผ่อน 0%’ 4 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้น ก็ว่าไป เป็นการกระตุ้นยอดขาย ช่วงหลังร้านทองเองก็มีโปรโมชั่นเช่นนี้ออกมาเช่นกัน นอกเหนือจากกลุ่มสินค้ายอดฮิตอย่างโทรศัพท์มือถือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ประกัน, เฟอร์นิเจอร์ และออโต้เซอร์วิส (เปลี่ยนยาง)
-‘ดอกเบี้ย 0% แบบมีเงื่อนไข’ เช่น ดอกเบี้ย 0% เฉพาะ 3 เดือนแรก หรือ 6 เดือนแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าสูงเพราะมี ‘ดอกเบี้ยสูง’ ตามไปด้วย แต่ถ้าคุณเลือกเงื่อนไขนี้ก็แค่ปลอดดอกเบี้ยในช่วงสั้นเท่านั้น แต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วงหลังไปจนกว่าจะผ่อนสินค้านั้นหมดไปนั่นเอง
-‘ดาวน์ 0%’ มักพบกับการซื้อยานยนต์ไม่ว่าจะรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ ซึ่งปกติจะต้องมีการวาง ‘เงินดาวน์’ แต่โปรโมชั่นดาวน์ 0% จะทำให้คุณซื้อรถได้แม้ไม่ต้องมีเงินดาวน์ แต่จะตามมาด้วยยอดเงินผ่อนที่สูงขึ้นหรือระยะเวลาในการผ่อนที่นานขึ้นตามไปด้วย ซึ่งระยะเวลาผ่อนที่นานขึ้นก็จะตามมาด้วย ‘ดอกเบี้ย’ ที่มากขึ้นนั่นเอง
“ตัวเลข0% จึงเป็นเสมือนหนึ่ง ‘กับดัก’ ที่จะดึงให้ผู้บริโภคอย่างคุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการที่จะสมัครใจเป็นหนี้ ซึ่งแน่นอนไม่ยกเว้นแม้กับโปรโมชั่นบัตรเครดิต ที่รูดผ่อน 0% เช่นเดียวกัน เพราะคนส่วนใหญ่น่าจะมี ‘วินัยการเงิน’ ไม่มากนัก สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจนแบงก์ชาติเป็นกังวลในปัจจุบันนั่นเอง”
“ไร้วินัย”...รูดบัตรผ่อน 0% อาจกลายเป็น ‘กับดักหนี้’ ได้ทันที
ที่“แบงก์ชาติ” เป็นกังวลกับโปรโมชั่น รูดบัตรผ่อน 0% นั้น ก็มี ‘เหตุ’ ให้น่ากังวลเช่นเดียวกัน โอเคว่า...ในมุมของผู้บริโภค ก็เป็นการอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการ โดยทยอยจ่ายที่สำคัญไม่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ใช่ครับ...ถ้าผู้บริโภคมี ‘วินัย’ ในการผ่อนชำระ จ่ายครบ จ่ายตรง ประโยชน์นี้จะส่งตรงสู่ ‘ผู้บริโภค’ อย่างแน่นอน แล้วแบบนี้ ‘สถาบันการเงิน’ จะได้อะไรล่ะ? กับคนมีวินัย คงไม่ได้อะไรมากมายครับ นอกจากยอดการใช้จ่ายผ่อนบัตรและยอดขายสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นของผู้ขาย
แต่หากคุณ ‘ไร้วินัย’ เมื่อไร จากผ่อน 0% จะกลายมาเป็นผ่อน 18% ไปทันที!!!
“อย่างที่ย้ำเสมอว่า... ‘วงเงินบัตรเครดิต’ ไม่ได้ทำให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ประการใด รายได้ที่คุณมียังเท่าเดิม การวางแผนการใช้เงินจึงควรวางอยู่บนพื้นฐานนี้เป็นสำคัญ ‘ผ่อน 0%’ ก็คือการนำเงินในอนาคตของคุณมาใช้ก่อน การใช้จ่ายเงินในปัจจุบันย่อมสร้างความพอใจให้กับคุณมากกว่าในทันที แต่ก็ต้องแลกมาด้วย ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่สูงขึ้นในเดือนถัดๆ ไปเช่นกัน”
ย้อนกลับมาที่พื้นฐานการแบ่ง‘รายรับ’ และ ‘รายจ่าย’ ของคุณเอง ตามสูตรที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนหน้าเราไม่ควรก่อหนี้เกินระดับ 40% ของรายได้ในแต่ละเดือน จะได้เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอ รูดบัตรผ่อน 0% จริงๆ ต้องเรียกเป็น ‘หนี้’ แต่เป็นหนี้ที่ ‘ไม่มีดอกเบี้ย’ เท่านั้นเอง ฉะนั้นคุณก็ต้องนำไปรวมอยู่ในวงเงินการก่อนหนี้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง : สมมติคุณเงินเดือน 15,000 บาท ก่อหนี้ได้ไม่เกิน 40% หรือ 6,000 บาท
-กรณีที่คุณไม่มีหนี้เลย หรือมีหนี้ยังไม่ถึง 40% การจะรูดบัตรผ่อน 0% ของคุณ ต้องแน่ใจว่าทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือน แล้วคุณก็ทยอยจ่ายไปตามจำนวน ในเวลาที่กำหนด ครบ 4 เดือน หรือ 6 เดือน ตามเงื่อนไขผ่อน 0% คุณก็จะกลับมาเป็นไทอีกครั้ง
“ต้องไม่ลืมว่า...เมื่อคุณรูดบัตรผ่อนไปแล้ววงเงินบัตรเครดิตคุณก็จะ‘ลดลง’ ตามวงเงินที่รูดไปใช้ด้วยเช่นกัน นี่คืออีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงว่า...ควรรูดให้อยู่ในศักยภาพการผ่อนชำระของตัวคุณเอง ไม่ใช่มีวงเงิน 15,000 บาท ก็จะรูดทั้ง 15,000 บาท แต่ประการใด”
-กรณีคุณมีหนี้อยู่แล้วแตะระดับ 40% การรูดบัตรผ่อน 0% คงไม่ใช่การอำนวยความสะดวกแล้วล่ะ แต่เป็นการพาตัวเองสู่ ‘กับดักหนี้’ ที่อันตรายไปทันที เพราะจะทำให้ภาระผ่อนต่อเดือนพุ่งทะลุ 40% ของรายได้ จนกระทบรายจ่ายปกติแต่ละเดือนไปได้ และมี ‘ความเสี่ยง’ ที่จะเป็นปัญหาในการผ่อนชำระ จนต้องแก้ไขเริ่มต้นด้วย ‘ชำระขั้นต่ำ’ ซึ่งจะตามมาด้วยภาระหนี้ดอกเบี้ย 18% ตามมาทันที (ประเด็นนี้แหละ...ที่น่าจะเป็นจุดที่แบงก์ชาติเป็นกังวล)
ท้ายสุด หากใครที่คิดจะรูดบัตร ‘ผ่อน 0%’ก็ต้องคิดถึงกำลังจ่ายต่อเดือนที่จ่ายไหว จ่ายตรง จนครบงวดชำระ เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองที่ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ไปในครั้งเดียว แต่ต้องไม่ลืมว่า...นั่นจะตามมาด้วยภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้นตามมา แม้จะไม่มีภาระดอกเบี้ยก็ตาม ดังนั้น...คิดสักนิดก่อนคิดจะใช้โปรโมชั่น 0% เพราะนั่นอาจนำคุณเดินเข้าสู่ ‘กับดักหนี้’ เอาได้ง่ายๆ โดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน