จากข้อมูล “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ที่กล่าวถึงค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ทำให้สรุปได้เบื้องต้นว่า คนไทยจะมีชีวิตหลังเกษียณยาวนานขึ้น โดยผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 77 ปี และผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 82 ปี นั่นหมายความว่า ชีวิตหลังการเกษียณ หรือหยุดทำงานจะมีเวลายืนยาวไปประมาณ 20 ปี
“คนส่วนใหญ่พอเกษียณจากการทำงานแล้ว ก็จะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเป็นช่วงวัยที่อายุสูงขึ้น จึงมีความเสี่ยงในเรื่องปัญหาด้านสุขภาพตามมา รวมถึงความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินที่เตรียมไว้เพื่อใช้ตลอดอายุการเกษียณ”
จะเกิดอะไรขึ้น...ถ้า ‘ไม่ทำประกันสุขภาพ’ ก่อนเกษียณ?
แน่นอนการทำประกันสุขภาพ เป็นหนึ่งใน ‘การจัดการความเสี่ยง’ หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งการที่ต้องทำการรักษา โดยแนวโน้มในการรักษาพยาบาลนั้น นับวันก็มีแต่จะสูงขึ้น ทำให้เราต้องสำรองเงินเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น และเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงเงินที่เตรียมไว้ส่วนใหญ่มักจะไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินที่วางแผนไว้ใช้ในการเกษียณในด้านต่างๆ อีกด้วย
“แล้วจะทำอย่างไร? ถ้าวันนี้..คุณยังไม่เกษียณคุณยังสามารถวางแผนการประกันสุขภาพก่อนการเกษียณได้ เพื่อจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยสามารถปรึกษา ‘นักวางแผนการเงิน (CFP)’ จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย”
แต่จะทำอย่างไร? หากคุณในวันนี้... ‘เกษียณแล้ว’ และ ‘ไม่สามารถวางแผนทำประกันสุขภาพได้’ อีกแล้ว
นอกจากการปรึกษานักวางแผนการเงินแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องเตรียมตัว และหาข้อมูลว่า เรามีสวัสดิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง
โดยคนไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล มี 3 ระบบใหญ่ คือ
-
สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ อ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาเงินเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
-
สิทธิประกันสังคม มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองลูกจ้างและผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
-
สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ซึ่งดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ในการครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือผู้ประกันตนประกันสังคม
“นอกจากนี้ ‘หากเกิดเหตุฉุกเฉิน’ สิทธิที่คนไทยทุกคนมีแต่ไม่ค่อยรู้ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาฟรีไม่ต้องสำรองจ่ายคือ ‘สิทธิ UCEP’ แล้ว UCEP คืออะไร...”
“UCEP” คือ นโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดย UCEP ย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ดังนั้นแม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่มีสิทธิอะไรเบิกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้
คงไม่มีใครอยากจะเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุแล้วไม่มีเงินรักษา วันนี้หากคุณ ‘วางแผนได้’ คุณควรเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลทั้ง ‘สุขภาพกาย’ และ ‘สุขภาพใจ’ ให้สมบูรณ์แข็งแรง และหากสามารถวางแผนทำประกันสุขภาพได้ก่อนก็จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณในแบบที่เราออกแบบได้ ไม่ต้องมาสะดุดหรือลำบากที่ต้องนำเงินในส่วนที่ไม่ได้เตรียมไว้มาใช้ อีกทั้งไม่เป็นภาระให้กับใคร ขอให้เกษียณเกษมกันทุกท่านค่ะ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ [email protected],TFPA Facebook Fanpageและ www.tfpa.or.th