ล่าสุดผลตรวจ Covid-19 ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ และ “เมลาเนีย ทรัมป์” สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นบวก! หมายถึงว่าทั้งคู่ติด Covid-19 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเจ้าตัวเป็นคนทวิตเองผ่าน Twitter ว่ากำลังกักกันตัวและเราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ส่วนด้าน “เลือกตั้งสหรัฐ” ก็กำลังเข้มข้น การโต้วาที หรือ Election Presidential Debate of 2020 นัดแรกเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างผู้ลงสมัครเลือกตั้ง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน จากพรรคริพับลิกันกับ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต โดยการดีเบตครั้งแรก ทั้ง 2 ฝ่ายได้โต้ตอบกันไปมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ในประเด็นการเลี่ยงจ่ายภาษีของทรัมป์ การนำนโยบาย Obama Care ของไบเดนที่จะนำกลับมาใช้อีกครั้ง หากชนะการเลือกตั้ง ซึ่งพอเถียงกันมาทำให้ประเด็นท้ายๆ อาจจะพูดไม่ครบ โดยเฉพาะในเรื่อง “สงครามการค้า” ซึ่งเกี่ยวกับเศรษฐเอเชีย และเศรษฐกิจไทยโดยตรง
อย่างไรก็ตามทรัมป์และไบเดนจะดีเบตกันอีกรอบที่ 2 และ 3 ในวันที่ 15 ต.ค. และ 22 ต.ค.63 ก่อนจะเลือกตั้งจริง สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้านเรา Wealthy Thai ได้หาคำตอบมาฝากนักลงทุน โดยดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ การดีเบตครั้งแรกยังไม่ได้ลงรายละเอียดในส่วนข้อย่อยเรื่องสงครามการค้ามากนัก เนื่องจากมัวแต่ทะเลาะกัน แต่จากที่ศึกษานโยบายเศรษฐกิจของทั้งคู่พบว่า ทั้งทรัมป์และไบเดนเห็นตรงกันเรื่อง “การกีดกันจีน” ไม่ให้เป็นประเทศมหาอำนาจ จึงพยายามลดบทบาทจีนในตลาดโลก และความพยามสร้างความเข้มแข็งจากภายในของสหรัฐ
“ซึ่งไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะชนะเลือกตั้ง แต่ไม่เป็นผลดีกับการค้าเสรี หรือในยุคโลภาภิวัตน์ในตลาดโลก เพราะฉะนั้นจึงกระทบกับไทยแน่ๆ แต่จะมีความแตกต่างกัน” ดร.อมรเทพกล่าว
ทรัมป์มาไม่เซอร์ไพรส์ เทรดวอร์ยังคงรูปแบบเดิม!
หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง – ทรัมป์จะเน้น Trade War ระหว่างสหรัฐกับจีน Trade War จะยังคงดำเนินต่อไป และรุนแรงขึ้น สุดท้ายจะนำไปสู่ Tech War จากทุกวันนี้ที่สหรัฐพยายามลดความแข็งแกร่งของ Huawei ซึ่งในอนาคตก็คงมีการแบ่งเทคโนโลยีเป็น “2 ขั้ว” ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับตลาดเกิดใหม่อย่างแน่นอน หลังจากนี้ประเทศไทยจะพึ่งพาการค้าจากจีนได้น้อยลง จากบทบาทการเป็น Supply Chain ของจีนที่ลดลง และอีกประการคือ “ต้นทุนการใช้เทคโนโลยีของไทย” จะสูงขึ้น เพราะเราต้องใช้ทั้ง 2 ระบบ ทั้งสหรัฐและจีน
ทั้งนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ เราก็คงปรับตัวจากนโยบายทรัมป์ที่มี 4 ปีแล้ว ดังนั้นแรงที่จะส่งผ่านมายังประเทศไทย อาจไม่ได้รุนแรงมากนัก ไทยก็ต้องเน้นการค้ากับสหรัฐมากขึ้น รวมถึงจะต้องหาตลาดใหม่ๆ สำหรับส่งออกสินค้า
หากไบเดนชนะเลือกตั้ง – กรณีนี้น่าสนใจ เพราะไบเดนจะใช้นโยบาย “โอบล้อมจีน” เพื่อลดความแข็งแกร่งของจีน ผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งก็คือ Trans-Pacific Partnership (TPP) ข้อตกลงเก่าที่ในอดีตนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้นโยบายนี้ดำเนินนโยบายในเอเชีย ซึ่งเน้นการสร้างพันธมิตรทางการค้าการลงทุนในเอเซียแปซิฟิก ซึ่งในอาเซียน ไทยไม่ได้อยู่ใน TPP เก่า และใน CPTPP ขณะที่เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น อยู่ใน 2 ข้อตกลงทั้ง TPP และ CPTPP
ผลชนะเลือกตั้งกดดันไทยต้องเลือกว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่
“ก็ต้องจับตาว่าในอนาคตหากไบเดนชนะการเลือกตั้ง น่าสนใจว่าสุดท้ายการค้าในภูมิภาค จะลดสัดส่วนการค้าของประเทศไทยลง และทำการค้ากับทางสหรัฐที่ทำการค้าในอาเซียนได้น้อยลง เนื่องจากไทยไม่ได้ร่วมข้อตกลง นอกจากนี้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติอาจลดลง โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งอาจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นแทน ดังนั้นหากผลเลือกตั้งออกมา ไบเดนชนะ ประเทศไทยต้องทบทวนว่าเราควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ เราจะเชื่อมกับจีนและสหรัฐอย่างไร นี่คือโจทย์และความท้าทายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเจอ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรามีแต้มน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เราจึงต้องแก้เกมให้ทัน ซึ่งอาจเข้าร่วมกลุ่ม หรือหากไม่เข้าร่วมกลุ่มต้องวางกลยุทธ์ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไร” ดร.อมรเทพกล่าว
ดร.อมรเทพกล่าวปิดท้ายว่า แน่นอนว่า CPTPP มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นไปไม่ได้ที่เจรจาแล้วทุกคนจะได้ประโยชน์ แต่หลักการคือกลุ่มที่ได้ประโยชน์ต้องมาช่วยดูแลประเทศที่ได้ประโยชน์น้อยกว่า ดังนั้นสิ่งที่สังคมกังวลเรื่องยาและเมล็ดพันธุ์ ต้องบอกว่าไม่มีอะไรดี 100% ต้องดูผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย จะเอาจุดเดียวมาขยายความทั้งหมดไม่ได้
ที่มา